ฮาร์ปซิคอร์ด เป็นเครื่องดนตรีตะวันตก ในยุคบาโรค ประเภทเครื่องดีด โดยมีการพัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทพิณ และกีตาร์ กลไกการเกิดเสียงจะใช้การเกี่ยวดึงสายโลหะซึ่งมีขนาด และความยาวแตกต่างกันเพื่อให้ได้เสียงความถี่ต่างๆ การเล่นเครื่องดนตรีนี้จะใช้ คีย์บอร์ด (Keyboard) ในการสร้างกลไกในการดึงสาย โดยผู้เล่นสามารถเลือกกดบนแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งจะคล้ายคลึงกับการเล่น เปียโน (Piano) แต่จะมีคีย์บอร์ดสองชั้น เหมือน ออร์แกน (Organ) ผู้เล่นไม่สามารถปรับความดังของเสียงได้ด้วยน้ำหนักของการกดคีย์บอร์ด แต่สามารถใช้กลไกอื่นช่วยในการสร้างความแตกต่างของคุณภาพเสียง (Acrustic Quality)
ในยุคบาโรคมีการเล่นเครื่องดนตรีนี้อย่างแพร่หลายในบทเพลงประเภทเดี่ยว และวง สำหรับประเภทเดี่ยวได้มีผู้ประพันธ์เพลงที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ บาค แฮนเดล สกาลัตตี คูโน แต่งเพลงไว้มากมาย โดยเฉพาะสกาลัตตีได้แต่เพลงประเภท โซนาตา ไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นบทเพลงที่มีความซับซ้อนในด้านเทคนิคการเล่นอย่างสูง สำหรับประเภทวง เครื่องดนตรีนี้สามารถเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆได้ วงออเครสตราในยุคนั้นได้กำหนดให้มีการเล่นดนตรีประเภท บาสโซคอนทินิวโอ (Basso Continuo) ไม่ได้เฉพาะเครื่องดนตรีเบสอย่างเดียว แต่ได้มีการใส่สัญลักษณ์เป็นตัวเลขเอาไว้เพื่อให้ฮาร์ปซิคอร์ดเล่นประกอบด้วย ถ้าจะเปรียบเทียบกับการเล่นดนตรีในปัจจุบันแล้ว ฮาร์ปซิคอร์ดเป็นเหมือนกับกลองชุด ซึ่งเป็นตัวกำหนดจังหวะของผู้เล่นเครื่องดนตรีอื่น และที่สำคัญที่สุด ผู้อำนวยเพลง (Conductor) ในสมัยบาโรค ก็มักจะประจำที่ฮาร์ปซิคอร์ดด้วย ตัวอย่างเพลงที่สำคัญของเครื่องดนตรีนี้ได้แก่ บทเพลงประเภท ออเครสตราสวิท (Orchestra Suite) ของบาค และ เฮนเดล บราเดนบวกคอนแซโต (Brandenburg Concerto) โดยเฉพาะหมายเลขห้า มีความพิเศษที่บาคนำฮาร์ปซิคอร์ดมาเป็นเครื่องดนตรีโซโลเพื่อฉลองให้กับฮาร์ปซิคอร์ดตัวใหม่ของเขาด้วย
ในปัจจุบันก็ยังมีการเล่นฮาร์ปซิคอร์ดกันอยู่เมื่อมีการเล่นดนตรีบาโรคเพราะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และเทคนิคการเล่นที่ไม่สามารถหาเครื่องดนตรีอื่นมาทดแทนได้